งานเสวนา “เด็กฉลาดห้องเรียนศตวรรษที่ 21” และเปิดตัวนิตยสาร “มิกเกะ!” ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK PARK)

3 องค์กรยักษ์ใหญ่เพื่อเด็กและการศึกษา ร่วมกันมอบเทคนิคการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากประเทศญี่ปุ่น….

งานกำลังเริ่มแล้ว เรามาติดตามกันเลยว่ามิกเกะ! มีอะไรมานำเสนอบ้าง

              1 กันยายน 2559, บริษัท ดิ อาซาฮี ชิมบุน, บริษัท ฮาขุโฮโด และบริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดเสวนา “เด็กฉลาดห้องเรียนศตวรรษที่ 21” เทคนิคการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมทั้งเปิดตัวนิตยสารแจกฟรีที่ชื่อว่า “มิกเกะ!” สื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่สำหรับเด็กที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาความรู้ที่น่าตื่นเต้น และชวนอัศจรรย์ใจ คำว่า “มิกเกะ!” ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า “เจอแล้ว” นิตยสาร  “มิกเกะ!” จึงเป็นการนำเสนอความรู้ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมหลากหลายสนุกๆ ในแบบที่เด็กจะต้องร้องอย่างตื่นเต้นเมื่อได้ค้นพบความรู้ใหม่ๆ ว่า “เจอแล้ว” นั่นเอง

พิธีกรกล่าวเปิดงานต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านพร้อมกับเปิดตัวนิตยสารมิกเกะ!
อาจารย์ ศกุนตลา สุขสมัย รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีกล่าวต้อนรับ

                   ภายในงาน ได้รับเกียรติจากอาจารย์ศกุนตลา สุขสมัย รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีกล่าวต้อนรับ โดยกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่คนญี่ปุ่นเห็นความสำคัญของการศึกษาของประเทศไทย ซึ่ง “มิกเกะ!” ก็จะเป็นนิตยสารที่มีประโยชน์ต่อเด็กประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4 – ป.6) เพราะภายในเล่มก็จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับ STEM Education แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งถ้าเด็กได้รู้จักกับกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากการเรียนรู้ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งนี้ อาจารย์ศกุนตลา สุขสมัยได้กล่าวขอบคุณ บริษัท ดิ อาซาฮี ชิมบุน, บริษัท ฮาขุโฮโด และบริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่ทำให้งานนี้เกิดขึ้น และขอบคุณอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ที่สนับสนุนในด้านสถานที่

ดร.เชาว์ เต็มรักษ์ Executive Director ของ Yanagawa Junior High School เป็นวิทยากรในหัวข้อ “ความแตกต่างระหว่างการเรียนในโรงเรียนญี่ปุ่น-ไทย”
ดร.เชาว์ เต็มรักษ์ Executive Director ของ Yanagawa Junior High School เป็นวิทยากรในหัวข้อ “ความแตกต่างระหว่างการเรียนในโรงเรียนญี่ปุ่น-ไทย”

                และได้รับเกียรติจาก ดร.เชาว์ เต็มรัก Executive Director ของ Yanagawa Junior High School เป็นวิทยากรในหัวข้อ “ความแตกต่างระหว่างการเรียนในโรงเรียนญี่ปุ่น-ไทย” ซึ่งได้มาบอกเล่าถึงความแตกต่างของการเรียนของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยจากประสบการณ์การศึกษาในทั้ง 2 ประเทศ และนำมาปรับใช้กับโรงเรียนมัธยมยานากาวาประจำประเทศไทย

ดร.เชาว์ เต็มรักษ์ – ในระยะ 10 ปี ผมได้ส่งเด็กไปเรียนที่ญี่ปุ่นประมาณ 400 คน เพราะอยากให้เด็กมีโอกาสที่ดี อยากให้เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่สามารถนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเองได้

เสวนาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “อาชีพในฝันของหนู” กับพันเอกวันชนะ สวัสดี (ผู้พันเบิร์ด) และคุณอาย ศรสวรรค์ พันธุมะบำรุง
ภาพบรรยากาศการเสวนาที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและรอยยิ้มของแขกรับเชิญพิเศษ

                  และในการเสวนาหัวข้อ “อาชีพในฝันของหนู” ได้รับเกียรติจากพันเอกวันชนะ สวัสดี (ผู้พันเบิร์ด) และคุณอาย ศรสวรรค์ พันธุมะบำรุง ที่ได้มาบอกเล่าที่มาของอาชีพในปัจจุบันของทั้ง 2 ท่าน ว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจในการรับราชการทหาร และการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำระดับทีมชาติ

 พันเอกวันชนะ สวัสดี (ผู้พันเบิร์ด) – ตอนเด็กๆ อยากเป็นสถาปนิก ออกแบบ เขียนแบบครับ แต่ครอบครัวเป็นทหาร ความรู้สึกที่เริ่มอยากเป็นทหารเหล่านี้ เริ่มเข้ามาตอนช่วงเรียนมัธยม ช่วงม.2-ม.3 แล้วโรงเรียนเตรียมทหารในสมัยก่อน เค้าจะรับตั้งแต่ม.4 เพื่อเข้าไปสู่โรงเรียนเตรียมทหาร 2 ปี และเป็นนักเรียนนายร้อยอีก 5 ปี ผมก็ไปสอบตามที่คุณพ่ออยากให้ไป ก็สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารม.4 แต่ก็ไม่ติด พอม.5 ก็สอบใหม่ สอบด้วยความรู้สึกที่ว่า ทำไมปีที่แล้วไม่ติด แล้วก็ติดโรงเรียนเตรียมทหารตอนม.5 ตอนเรียนนายร้อยก็ยังไม่ได้ชอบอาชีพทหาร เฉยๆ แต่เรียนได้ เพราะอยู่ในระเบียบวินัยและออกกำลังกายมาตั้งแต่เด็ก เริ่มชอบอาชีพทหารจริงๆ ตอนจบปริญญาตรี ซึ่งจริงๆ แล้วถือว่าช้า แต่แรงบันดาลใจที่สำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นคือคุณพ่อ ซึ่งตอนที่ผมจบโรงเรียนนายร้อย แล้วผมเลือกรับราชการ คือทหารมันมีหลายเหล่า ผมจึงรับราชการครั้งแรกในหน่วยทหารม้า เพราะคุณพ่อเป็นทหารม้า และอีกท่านคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านก็เป็นทหารม้า ผมก็ยึด 2 ท่านนี้เป็นแบบอย่าง

ปัจจุบัน ผมรู้สึกว่าชีวิตการเป็นทหารค่อนข้างจะเหมาะกับตัวเอง เพราะว่ามันเป็นชีวิตที่อยู่อย่างพอเพียง ซึ่งเป็นความเคยชินของผมที่พ่อเป็นทหาร และแม่เป็นแม่บ้าน และอยากทำประโยชน์ให้กองทัพ ให้หน่วยเหมือนกับพ่อผมที่เป็นทหาร

คุณอาย ศรสวรรค์ พันธุมะบำรุง – ย้อนกลับไปตอนเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ ตอนนั้นอยู่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ และคุณพ่อคุณแม่ก็พาอายไปเรียนที่โรงเรียนนี้ พี่สาว 2 คนก็ไปว่ายน้ำ แล้วเราก็ไปเรียนด้วย แล้วจุดนัดพบของครับครัวก็คือสระว่ายน้ำ เราก็จะเห็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ มีธงไตรรงค์ ใส่เสื้อวอร์ม อยู่ในบรรยากาศแบบนั้น เราก็เลยอยากจะเป็นทีมชาติแบบเค้าบ้าง คุณแม่ก็เลยให้ไปฝึก ไหนๆ ก็มานัดเจอกันที่สระว่ายน้ำอยู่แล้ว ก็เลยไปเรียนว่ายน้ำช่วงซัมเมอร์ เรียนกับพี่สาว พอพี่สาวเริ่มเข้าวัยรุ่นก็เลิกว่าย แต่เรายังสนุกต่อ มีเพื่อน แล้วโค้ชก็เห็นว่าหน่วยก้านดี มีแววมาก ก็ให้มาเป็นนักกีฬาของสโมสร ซึ่งเราก็ไม่รู้เรื่องนะ แต่แม่ก็โอเค อยากเป็นก็เป็น ไหนๆ ก็ต้องมานัดเจอที่นี่อยู่แล้ว ก็เริ่มว่ายตั้งแต่ 4 ขวบ พอ 5 ขวบก็เริ่มแข่งขันกีฬาภายใน แล้วก็แวดล้อมด้วยนักกีฬาทีมชาติ พออายุ 6 ขวบก็แข่งแล้วได้จากเหรียญทองแดง

ด้วยความสนุก บรรยากาศมันพาไป อยากเป็นทีมชาติ อยากยืนหน้าเสาธง และได้เรียนฟรีด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างเอื้ออำนวยทำให้เราอยากเป็นทีมชาติ ก็ไปแข่งด้วยความสนุกสนาน ได้โอกาสของชีวิต ได้ขึ้นเครื่องบินครั้งแรก ได้ไปเที่ยวเมืองนอก แล้วก็มีเกียรติ พออายุ 14 ขวบเป็นนักกีฬาทีมชาติ ก็ได้ยืนหน้าเสาธง มีเสื้อวอร์มเป็นของตัวเอง มีธงไตรรงค์ ข้างหลังเสื้อปัก “THAILAND” มีความสุขมากๆ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักกีฬาว่ายน้ำค่ะ

 

นิตยสาร “มิกเกะ” ฉบับปฐมฤกษ์ จะถูกจัดส่งถึงมือเด็กๆในโรงเรียนที่สมัครสมาชิกทุกๆ 2 เดือน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เริ่มต้นแจกในเดือนกันยายน 2559 นี้แล้วนะเด็กๆ

“มิกเกะ!” จะกระตุ้นความใฝ่รู้ ความคิดสร้างสรรค์ ก้าวทันโลกให้เด็กๆ ด้วยเนื้อหาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาษา ฯลฯ ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้จะถูกหยิบยกขึ้นมาปรุงให้สนุกสำหรับเด็กประถม พร้อมทั้งมีสื่อการเรียนการสอนที่เป็นประโยชน์

คุณเอโนะโมโต จุน จาก ดิ อาซาฮี ชิมบุน ประเทศญี่ปุ่น กำลังพูดถึงคาแรกเตอร์ตัวละครในนิตยสารมิกเกะ! จะมีตัวไหนกันบ้างตามมาดูกันเลย
มาดูกันว่าคุณลักษณะของเจ้ามิกเกะมีอะไรกันบ้าง “รักการผจญภัย มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น เป้าหมายในชีวิตคือการเป็นนินจาชั้นเยี่ยม”
คุณ เอโนะโมโต จุน จาก ดิ อาซาฮี ชิมบุน ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า นิตยสารมิกเกะ! จะส่งถึงโรงเรียนทุกๆ 2 เดือน
คุณเอโนะโมโต จุน ยังได้บอกเล่าถึงคุณสมบัติเด่นๆ ของชาวญี่ปุ่น และ การศึกษาของประเทศญี่ปุ่นให้เราได้ทราบกันอีกด้วย
ก่อนที่ทุกท่านจะได้ดูเจ้า Robot Programming เรามาชมภาพตัวอย่างกันก่อน
ทีมงานจากนิตยสามิกเกะ! แนะนำการสาธิตระบบการเรียนรู้ Robot Programming
ภาพบรรยากาศสำหรับสื่อมวลชนที่กำลังให้ความสนใจอยูู่กับเจ้า Robot Programming

นิตยสาร “มิกเกะ” ฉบับปฐมฤกษ์จะถูกจัดส่งถึงมือเด็กๆในโรงเรียนที่สมัครสมาชิก โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ในเดือนกันยายน 2559 เด็กๆจะได้ทำความรู้จักกับมิกเกะและผองเพื่อนและหมู่บ้านของพวกเขา สนุกสนานกับกิจกรรม Robot Programming ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น และเรียนรู้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมผ่านชีวิตของโลมา สัตว์โลกสุดน่ารัก และนอกจากนี้ สมาชิกจะได้รับนิตยสารมิกเกะ ฟรีทุก 2 เดือน ตลอด 1 ปี ยังมีสิทธิ์ได้รับเทคนิคความรู้โดยทีมงานนิตยสารมิกเกะจากประเทศญี่ปุ่นถึงที่โรงเรียนอีกด้วย

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ :  www.facebook.com/mikke.thailand

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *