งานของคุณคาเนมิสึ “ Physical trainer (ในสังกัด ARMY UNITED FC) ”
คุณคาเนมิสึ เรียวโตะ เป็น Physical trainer ในสังกัด ARMY UNITED FC ทีมฟุตบอลอาชีพของไทย เกิดเมื่อปี 1992 ที่จังหวัดโทยามะ เคยทำงานในสโมสรฟุตบอลกัมพูชา GFA Soriya เป็นเวลา 2 ปี เป็นทั้งผู้เกี่ยวข้องในการดูแลการจัดการโรงเรียนสอนฟุตบอลในต่างประเทศ และเป็นเทรนเนอร์ของทีมชาติกัมพูชาอีกด้วย ปัจจุบันทำงานให้กับทีมฟุตบอลในสังกัดของทหารกองทัพบก เป็นคนญี่ปุ่นเพียงคนเดียวที่คอยดูแลสมรรถภาพทางกายของนักกีฬา คอยซัพพอร์ทนักกีฬาในการทำกายภาพบำบัด และการป้องกันการบาดเจ็บต่างๆ
ผู้ถาม : นิโกะ
Physical trainer คืออะไร
หลายๆ คนยังคงสงสัยว่า Physical trainer หรือ Athletic trainer คืออะไร
ในโลกฟุตบอลจะมีผู้เชียวชาญที่คอยดูแลและรักษาร่างกายของนักกีฬาโดยการทำกายภาพบำบัด การรักษาบาดแผล และการเทรนต่างๆ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ เราเรียกผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ว่า Physical trainer ซึ่งคุณคาเนมิสึ เป็นคนญี่ปุ่นเพียงคนเดียวที่ทำหน้าท่ี่เป็น Physical trainer ให้กับทีมฟุตบอลไทย เขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการเล่นฟุตบอล แต่เขาคือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเทรน ซึ่งเป็นงานที่ไม่คุ้นหูคุ้นตากันเลยใช่มั้ยล่ะครับ ทำอย่างไรถึงจะได้เป็น Physical trainer เราลองไปถามกันเลยดีกว่า
สัมภาษณ์ เดือนมิถุนายน 2017
นิโกะ : คุณคาเนมิสึ เรียวโตะ ครับ งาน Physical trainer เป็นงานแบบไหนครับ ผมนึกภาพไม่ออกเลยช่วยบอกหน่อยได้มั้ยครับ
เรียวโตะ : ผมทำงานอยู่ใน ARMY UNITED FC เป็นทีมฟุตบอลอาชีพของไทย ในการแข่งลีค ทีมจะเเบ่งออกเป็น 2 ทีม เพื่อเเข่งกับทีมมืออาชีพอื่นๆ นักกีฬาในสังกัดมีประมาณ 30 คน มีการฝึกซ้อมทุกวัน และแข่งทุกอาทิตย์ หน้าที่ของ Physical trainer คือการดูแลรักษาร่างกายของนักกีฬาทั้งในตอนฝึกซ้อม และวันแข่งจริงครับ
นิโกะ : ดูแลรักษาร่างกายหรอ?
เรียวโตะ : ใช่ครับ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่นักกีฬาจะลงซ้อมผมก็จะพันเทปให้ตรงจุดที่นักกีฬารู้สึกปวด ไม่ก็นวดให้ร่างกายของนักกีฬาผ่อนคลาย เมื่อร่างกายของนักกีฬาดีเต็มร้อย จะทำให้พวกเขาลงเล่นได้เต็มที่ และนี่คือจุดที่ Phisical trainer ให้ความสำคัญมากที่สุดครับ
นิโกะ : อย่างนี้นี่เอง ถ้าอย่างนั้น เวลานักกีฬาบาดเจ็บ คุณเรียวโตะก็เป็นคนตรวจสินะครับ
เรียวโตะ : ก็ไม่เชิงครับ มันค่อนข้างจะซับซ้อนนิดหน่อย คือในทีมแต่ละทีมจะมีหมอประจำทีม เวลามีนักกีฬาบาดเจ็บหมอจะเป็นคนตรวจก่อนครับ หลังจากนั้นถึงจะเป็นงานของผม เช่น ดูอาการของนักกีฬาและให้คำแนะนำต่างๆ ถ้านักกีฬามีอาการบาดเจ็บแบบนี้ จะสามารถลงเล่นหรือฝึกซ้อมได้ประมาณไหน รวมไปถึงการพันเทปเพื่อไม่ให้แผลร้ายแรงกว่าเดิม การทำกายภาพบำบัดเพื่อให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น นอกจากผมที่คอยดูนักกีฬาในส่วนนี้ ก็ยังมีผู้เช่ยวชาญในด้านอื่นๆ คอยซัพพอร์ทนักกีฬาอีกด้วยครับ
นิโกะ : โอ้โห ในทีมฟุตบอลนอกจากนักกีฬาแล้ว ก็มีหน้าที่อื่นอีกเยอะแยะมากมายเลยนะครับเนี่ย
เรียวโตะ : สังกัดที่ผมทำอยู่ในตอนนี้คือ ARMY UNITED FC คืออยู่ภายใต้การบริหารของกองทัพบกตามชื่อเลยครับ นอกจากผู้จัดการทีม และตำเเหน่งสูงกว่านั้น ทุกคนเป็นทหารหมดเลยครับ และในสนามตำเเหน่งโค้ชและตำแหน่งลองลงมาจะเป็นบุคลากรจากภายนอก ในกลุ่มนักกีฬาก็จะมีคนที่อยู่ในทีมกองทัพบกด้วยครับ
นิโกะ : หืม? ทีมฟุตบอลของทหารหรอครับ?
เรียวโตะ : ตามหลักแล้ว บอกว่ากองทัพบกไทยเป็นผู้บริหารน่าจะถูกต้องที่สุดครับ สนามแข่ง หรือสนามฝึกซ้อมก็อยู่ในสถานฝึกอบรมของกองทัพบกไทยที่อยู่ตรงดินแดงครับ
นิโกะ : ทำงานในสภาพแวดล้อมที่น่าตื่นเต้นจังเลยนะครับ
เรียวโตะ : บางครั้งจะได้ยินเสียงปืนจากการฝึกยิงปืนในสนามข้างๆ ด้วย ผมนี่ยังตกใจหมดเลย 555
นิโกะ : เอิ่บ (เหงื่อแตก…)
เรียวโตะ : ถึงแม้จะทำงานในทีมทหาร แต่งานก็ไม่ได้เข้มงวดมากเท่าไหร่ครับ สมกับที่เป็นไทยเลยครับ มีอิสระในการทำงาน อีกอย่างการที่กองทัพบกเป็นฝ่ายบริหาร เรื่องกำไร ผลประโยชน์ต่างๆ จึงเอาแน่เอานอนไม่ได้ แตกต่างกับทีมที่ภาคเอกชนบริหาร ผมจึงคิดว่าผมอาจจะเเสดงศักยภาพและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้จากตรงนี้ครับ
นิโกะ : แล้วได้ทำงานอื่นนอกจากการดูแลนักกีฬามั้ยครับ
เรียวโตะ : ตัวผม ซึ่งถือเป็นชาวต่างชาติในทีม ผมจึงอยากทำตัวให้เป็นประโยชน์กับทีมและทำในสิ่งที่มีแค่ผมเท่านั้นที่ทำได้ ผู้จัดการทีมและสต๊าฟจะพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ในทีมจะมีชาวต่างชาตินอกจากผมอีกคือ ชาวบราซิล และชาวสโลวาเกียที่เป็นนักกีฬาอยู่ครับ ผมจึงคอยเป็นล่ามระหว่างนักกีฬาและสต๊าฟ โดยใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษง่ายๆ นักกีฬาเนี่ยมีร่างกายแข็งแรงอย่างเดียวคงไม่อาจทำแต้มได้ดีเท่ากับการสื่อสารระหว่างกันครับ
นิโกะ : อย่างนี้นี่เอง ถ้าอย่างนั้นคุณเรียวโตะก็เคยเล่นฟุตบอลมาเหมือนกันใช่มั้ยครับ
เรียวโตะ : แน่นอนครับ ผมเล่นตั้งแต่อนุบาลเลยครับ แล้วประมาณ ม.ปลายเคยอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพด้วยครับ แต่มีอยู่วันหนึ่งผมได้ยินข่าวว่าในโลกกีฬามีงานเทรนเนอร์ด้วย แม่ผมเป็นพยาบาล ผมจึงสนใจในงานด้านการรักษามาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ผมจึงคิดว่าถึงจะไม่ได้เป็นนักกีฬาฟุตบอล แต่ผมอาจจะได้ทำงานเกี่ยวกับฟุตบอลในหน้าที่เทรนเนอร์ก็ได้
นิโกะ : หลังจากเรียนจบ ม.ปลาย ก็หางานเลยหรอครับ
เรียวโตะ : เปล่าครับ ผมไม่มีประสบการณ์อะไรเลย จึงอยากหาประสบการณ์ที่มีแค่ผมเท่านั้นที่ทำได้ก่อนครับ ผมจึงไปเข้าโรงเรียนสอนฝังเข็มโดยเฉพาะ
นิโกะ : ฝังเข็ม? คืออะไรครับ
เรียวโตะ : หรือที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ “การรักษาด้วยเข็ม” ครับ ในการเป็นเทรนเนอร์ ก่อนที่เราจะดูแลรักษาร่างกายของนักกีฬา เราควรเรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายก่อน แล้วที่สำคัญ ถ้าได้ยินว่ามีเทรนเนอร์ฟุตบอลที่จบการฝังเข็มมา ก็คงจะรู้สึกทึ่งไม่น้อยใช่มั้ยล่ะครับ 555
นิโกะ : ครับ ทึ่งมาก!!
เรียวโตะ : ที่ประเทศไทย ผลการประเมินงานด้านเทรนเนอร์ยังไม่สูงถ้าเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้ง นักกีฬาไม่ค่อยคำนึงถึงการรักษาบาดแผลและการทำกายภาพบำบัด ในการที่จะให้นักกีฬาแสดงศักยภาพในการเล่นให้ได้มากที่สุดในสภาพแวดล้อมแบบนี้ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การสื่อสาร และการพยายามเปลี่ยนความคิดของคนรอบข้างครับ
คำพูดวิเศษของ “อาลาดิน” : เรามาฟังคำแนะนำจากอาลาดิน(คุณครูอันโด ริจิ) จากโรงเรียนกวดวิชา NOAH กัน
คนที่ชอบเล่นกีฬาคงจะมีสักครั้งที่คิดว่าอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่ในความเป็นจริงแล้วกีฬาอาชีพนั้นไม่ได้มีอาชีพแค่นักกีฬาเท่านั้น ยังมี กรรมการ , โค้ช , สต๊าฟทีม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ถ้าเรามาคิดแบบนี้แล้ว งานที่มีความเกี่ยวข้องกับกีฬาแท้จริงแล้วมีเยอะแยะมากมาย อนาคตถ้าเราทำงานที่เกี่ยวข้องกับกีฬาที่เราชอบคงจะดีไม่น้อย (อันโด ริจิ)